temple1

วัดแก้วพิจิตร เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๒๒ ซึ่งตรงกับรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งอยู่ในเขตหมู่ ๔ ตำบลบางบริบูรณ์ อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี บนริมฝั่งขวาของแม่น้ำปราจีนบุรี ห่างจากตัวเมือง ไปทางทิศตะวันออก ประมาณ ๒ กิโลเมตร สร้างขึ้นโดยนางประมูลโภคา หรือนางแก้ว ประสังสิต เพื่อใช้ใน การทำบุญตักบาตร ถือศีลฟังธรรมโดยมีผู้ร่วมกัน บริจาคที่ดิน แรงงานและทุนทรัพย์ ในการก่อสร้าง สิ่งก่อสร้างในระยะแรก ประกอบด้วย ศาลาการเปรียญ หอสวดมนต์ กุฎี พระอุโบสถ ศาลาท่าน้ำและเรือนแพ ภายในพระอุโบสถแต่เดิมประดิษฐานรอยพระพุทธจำลอง

เมื่อเจ้าพระยาอภัยภูเบศรได้อพยพครอบครัวจากเมืองพระตะบองมาอยู่ที่ปราจีนบุรี ท่านก็ได้อุปถัมภ์วัดนี้ โดยการบูรณะปฎิสังขรณ์ ตลอดจนการสร้างเสนาสนะทั้งที่สร้างขึ้นใหม่และสร้างทดแทนของเก่าเช่น ในปี พ.ศ. ๒๔๕๑ ได้สร้างศาลาธรรมสังเวช และเมรุเผาศพ อย่างละ ๑ หลัง ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๕๗ เมื่อเจ้าพระยาอภัยภูเบศรสร้างโรงเรียน ศาลา เมรุ จึงได้ถูกรื้อไปจนหมดสิ้น

ในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ เจ้าพระยาอภัยภูเบศรได้รื้อ อาคารโรงเรียน หนังสือไทยหลังเดิม แล้วสร้าง โรงเรียนบาลีธรรมวินัยและหนังสือไทยเป็นอาคาร ตามแบบสถาปัตยกรรมตะวันตก โรงเรียนแห่งนี้ จัดได้ว่าเป็นโรงเรียนปริยัติธรรมแห่งแรกของจังหวัดปราจีนบุรี และภายหลัง จึงได้รับพระราชทานนาม โรงเรียนว่าโรงเรียนอภัยพิทยาคาร

ในปี พ.ศ. ๒๔๖๑ เจ้าพระยาภูเบศรได้รื้อพระอุโบสถหลังเก่าซึ่งชำรุดแล้วสร้างพระอุโบสถ หลังใหม่ขึ้นแทนที่ พระอุโบสถหลังใหม่นี้มีลักษณะสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานกันระหว่างศิลปะไทย จีน เขมร และตะวันตก ที่มีความงดงาม หาดูได้ยากยิ่ง พระอุโบสถหลังนี้เป็นอาคารเครื่องก่อ ขนาด ๕ ห้อง มีเฉลียงรอบ หลังคามุงกระเบื้อง มีหลังคามุขประเจิด และหลังคาเฉลียงรอบ ๒ ชั้น เครื่องลำยอง เป็นปูนลงรักประดับหน้าบันปูนปั้นเขียนสี มีลายปูนปั้นเป็นภาพวิมานพระอินทร์กลางลายพันธ์พฤกษา ขอบล่างของหน้าบันเป็นลายกระจังลายสาหร่ายรวงผึ้ง เสาหน้ามุขประเจิดเป็นลายปูนปั้นรูปมังกรข้างละ ๑ ตัว ผนังพระอุโบสถฉาบปูนเรียบที่ซุ้มประตูหน้าต่างทำเป็นลายก้านขด ระหว่างประตูเข้าด้านหน้าและด้านหลังทำเป็นลาย ปูนปั้นเล่าเรื่องรามเกียรติ์ ผนังตอนบนใต้ชายคาเป็นภาพจิตรกรรมแบบตะวันตก เป็นลายเครื่องแขวน มีภาพเหมือนบุคคลหญิงชายชาวต่างประเทศครึ่งตัวอยู่ในครึ่งวงกลม เฉลียงรอบพระอุโบสถมีเสา รองรับชายคา เป็นเสากลมเซาะร่องลูกพูกโดยรอบ หัวเสาใบผักกาดตามแบบตะวันตก รอบพระอุโบสถ มีซุ้มเสมาและกำแพงแก้วล้อมรอบ ผนังกำแพงเป็น ลายดอกไม้ในวงกลมหัวเสากำแพงตั้งกระถางต้นไม้ กึ่งกลางระหว่างกำแพงแก้ว มีซุ้มประตู ยอดซุ้มประดับลายปูนปั้นรูปหน้ากาก ดอกไม้ และนาฬิกา ที่ผนังภายในพระอุโบสถมีพระพุทธรูปปูนปั้นประทับยืนติดอยู่ที่ผนังด้านตะวันตก พระพุทธรูปองค์ เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้รวบรวมชิ้นส่วนของพระประธานในโบสถ์เดิมมาดัดแปลงขึ้นใหม่ ส่วนพระ ประธานองค์ใหม่เป็นพระพุทธรูปนั่งทำปางลักษณะค่อนข้างแปลก เรียกว่าปางประทานพระอภัย

ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้พระอุโบสถเป็นหอไตร เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ๒ ชั้น สร้างเชื่อมกันกับหอระฆัง หลังคาปีกนกประดับช่อฟ้าใบระกาหางหงส์ ส่วนหอระฆัง เป็นหลังคาทรงมณฑปหลังจากที่เจ้าพระยาอภัยภูเบศรถึงอสัญกรรมแล้ว วัดนั้นได้รับ การบูรณะปฏิสังขรณ์ก่อสร้างเสนาสนะเพิ่มเติมอีกหลายครั้งและมีการ ปรับปรุงและพัฒนาวัดนี้ นอกเหนือจากความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์ ความเป็นมาและสิ่งก่อสร้างแล้ว การที่วัดแก้วพิจิตรเป็นวัดฝ่ายธรรมยุตินิกายวัดแรก ของจังหวัดปราจีนบุรี จึงปรากฎหลักฐานเกี่ยวกับการเสด็จพระราชดำเนินมายังวัดนี้ ของพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งฝ่ายคฤหัสถ์และฝ่ายฆราวาสหลายพระองค์ ด้วยความสำคัญของวัดนี้ทางด้านศิลปกรรม ประวัติศาสตร์ ความเป็นมาและการเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาที่สำคัญของจังหวัดปราจีนบุรี กรมศิลปากรจึงได้ขึ้นทะเบียน วัดนี้เป็นโบราณสถาน ของชาติ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๓ และในปี พ.ศ.๒๕๓๕ จังหวัดปราจีนบุรีจึงได้ดำเนินการบูรณะวัดนี้อีกครั้ง โดยใช้รูปแบบวิธีการบูรณะของ กรมศิลปากร

ที่วัดแก้วพิจิตร แม้ว่าในปัจจุบันโรงเรียนอภัยพิทยาคาร จะไม่ได้ใช้เป็นโรงเรียนหอไตร จะมีตำรับตำราและคัมภีร์ที่ไร้คนอ่าน คนสนใจ ตลอดจนจำนวนพระในวัดจะลดน้อยลงไปจากเดิม แต่วัดแก้วพิจิตรยังคงเป็นแหล่งความรู้ ซึ่งอุดมไปด้วยร่องรอยทาง ประวัติศาสตร์และโบราณคดี เป็นที่พึ่งทางจิตใจ และสอนจิตใจด้วยพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ เป็นแหล่งเผยแพร่ พระพุทธศาสนา และยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดซึ่งแสดงให้เห็นการปรับตัวของวัดแก้วพิจิตรให้สอดคล้องกับกระแส การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน

temple4temple2
temple5temple3

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก http://kanchanapisek.or.th/kp8/pjb/pjb102.html

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *